ทันตกรรมทั่วไป (อุด ขูด ถอน)

          ทันตกรรมแบบทั่วไป หมายถึง การตรวจสภาพช่องปากและฟันการทำความสะอาดและการรักษาสภาพเหงือกและฟัน เพื่อให้มีสุขอนามัยที่ดีและสามารถมีอายุการใช้งานได้นานๆ ซึ่งประกอบไปด้วย

          การตรวจวินิจฉัย
          การตรวจวินิจฉัยนับเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีความสำคัญมากที่สุดเป็น กระบวนการที่จะทำให้ทันตแพทย์ สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงสุด
          โดยการตรวจวินิจฉัยนี้สามารถทำได้เริ่มต้นจากการสอบถามประวัติคนไข้ตรวจในช่องปาก ในบางกรณีอาจมีความจำเป็นในการถ่าย Xray และพิมพ์ปากเพื่อนำไปสู่กระบวนการวางแผนการรักษา

การขูดหินปูน และ ขัดฟัน

การขูดหินปูน คือ การกำจัดหินปูนทำได้โดยการขูดเอาก้อนหินปูนทั้งชนิดใต้เหงือกและเหนือเหงือกออกจนหมด การขูดหินปูนใช้เครื่องมือ 2 ชนิด ชนิดแรกใช้แรงมือขูด ชนิดที่สองเป็นเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้า ใช้การสั่นของเครื่องมืออัลตร้าโซนิคในการกะเทาะเอาหินปูนให้หลุดออกจากผิวฟัน การใช้เครื่องมือไฟฟ้าช่วยให้การขูดหินปูนทำได้รวดเร็วกว่าเดิม ทั้งยังให้ความสะดวกในการทำงานอีกด้วย

การขัดฟัน เป็นการขัดคราบหลังจากการขูดหินปูนออกแล้ว เพื่อกำจัดคราบสีจากอาหารที่ติดอยู่บนผิวของเนื้อฟันอีกที

ฟลูออไรด์ เป็นสารช่วยป้องกัน และลดการผุของฟัน ช่วยให้โครงสร้างของเคลือบฟันแข็งแรง ต้านทานต่อฟันผุได้ดีขึ้น

สาเหตุของการเกิดหินปูน

          หินปูนเกิดขึ้นมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งซ่อนตัวอยู่ตามซอกฟันน้ำตาลจากเศษอาหารที่ติดฟัน  จะทำให้เชื้อนี้เจริญเติบโต  พร้อมกับผลิตกรดบางอย่างขึ้นมา  ซึ่งสามารถทำลายแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของผิวเคลือบฟันได้  จากนั้นแบคทีเรียดังกล่าว  ก็จะสร้างหินปูนขึ้นมาปกคลุมตัวเองอีกชั้นหนึ่ง โดยไม่หลุดลอกหรือถูกชะล้างไปไหน  หากปล่อยไว้นานวันหินปูนเหล่านี้ก็จะยิ่งพอกพูนหนาขึ้น  ขณะที่ผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันค่อย  ๆ ผุกร่อนลง

การอุดฟัน

          การอุดฟัน เป็นวิธีบูรณะฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันจากสาเหตุต่างๆ อาทิ ฟันผุ ฟันสึกจากการแปรงฟันผิดวิธี ฟันแตกหักจากอุบัติเหตุ ที่ไม่รุนแรงจนถึงโพรงประสาทฟันเป็นส่วนหนึ่งของทันตกรรมแบบทั่วไปที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยจะเป็นการกรอบริเวณที่ผุออกแล้วจึงทำการอุดด้วยทันตวัสดุ เช่น วัสดุ อมัลกัม วัสดุเรซินสีเหมือนฟัน หรือ ในกรณีที่มีขนาดใหญ่มากๆ อาจจำเป็นต้องทำการอุดด้วยการทำ Inlays & Onlays 

พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ

     “ระยะเวลาและความถี่” ที่อาหารหวาน (น้ำตาล) สัมผัสกับตัวฟัน มีผลต่อการเกิดฟันผุมากกว่า “ปริมาณ”ของน้ำตาลที่มีอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มนั้นๆ ดังนั้น หากรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะของหวานที่มีความเหนียวที่ทำให้น้ำตาลติดอยู่กับฟันนานๆ เช่น ลูกอม หรือการดื่มเครื่องดื่มบ่อยๆ เช่น การจิบน้ำหวาน หรือดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลบ่อยๆ ระหว่างวัน จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้มากขึ้น

การถอนฟัน

          การถอนฟัน(Teeth Extraction) จะทำในกรณีที่ฟันซี่นั้นผุ แตก ไม่สามารถบูรณะกลับมาใช้งาน หรือไม่มีประโยชน์ต่อการบดเคี้ยวอีกแล้ว นอกจากนี้การถอนฟันอาจทำเพื่อเปิดช่องว่างสำหรับการจัดฟันให้เรียงตัวได้อย่างสวยงาม 

          โดยทั่วไปการถอนฟันจะทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ เมื่อชาเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีแรงกดเพียงเล็กน้อย ไม่เจ็บปวด หลังถอนฟันให้กัดผ้าก็อซให้แน่น ประมาณ 1 ชม.เลือดก็จะหยุดไหล โดยทั่วไปการถอนฟันธรรมดา จะไม่มีอาการบวม อาการเจ็บจะหายไปภายใน 1 วัน สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และแผลถอนฟันจะหายภายใน 5-7 วัน

         ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังถอนฟัน ให้งดการบ้วนน้ำแรงๆ เพราะอาจะทำให้ลิ่มเลือดที่ปิดแผลหลุดออกและทำให้เกิดอาการปวดได้ หลังจากถอนฟันแล้วประมาณ 1 เดือน เมื่อแผลหายสนิท และสันเหงือกว่างยุบตัวลงเล็กน้อยจนคงที่แล้ว ควรใส่ฟันทดแทน หากไม่ใส่ฟันทดแทน ฟันข้างเคียงจะล้มเข้าสู่ช่องว่าง ฟันคู่สบจะยื่นยาวลงมาในช่องว่าง ทำให้เกิดปัญหาฟันห่าง ฟันล้มเอียงจนง่ายต่อการเกิดฟันผุ และโรคเหงือก หรืออาจเป็นสาเหตุของการเกิดการสบฟันผิดปกติทั้งระบบในระยะยาว และเมื่อฟันล้มเอียงเข้าสู่ช่องว่างและ ทำให้การใส่ฟันทดแทนทำได้ยาก มีขึ้นตอนที่วุ่นวายมากขึ้น

 

สาเหตุที่ต้องถอนฟัน

  • ฟันผุลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน และสูญเสียเนื้อฟันเป็นบริเวณกว้าง จนไม่สามารถรักษาได้
  • เป็นโรคเหงือกขั้นรุนแรง
  • ฟันบิ่นหรือแตก, ร้าวในแนวดิ่งจนยากที่จะรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
  • อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถขึ้นได้ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา เช่น ฟันคุด, ฟันฝัง
  • เป็นการถอนเพื่อเตรียมจัดฟัน