รักษาโรคเหงือก
โรคเหงือกอักเสบ เป็นสภาวะการตอบสนองของเนื้อเยื่อและเหงือกในช่องปากที่มีต่อเชื้อโรคต่างๆ ที่สะสมอยู่รอบๆ ตัวฟัน ซึ่งเกือบทุกคนจะมีเหงือกอักเสบมากหรือน้อยแตกต่างกันไป โดยสัญญาณเริ่มต้นของการเกิดโรคเหงือกอักเสบ อาจเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ เช่น แปรงฟันแล้วมีเลือดออก หรือมีกลิ่นปาก เป็นต้น ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นการเตือนให้คุณได้ทราบว่า เหงือกของคุณเริ่มจะไม่ปกติแล้ว คุณควรจะทำการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามไปมากกว่านี้
อาการของโรคเหงือก
อาการของโรคเหงือกอาจแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
เหงือกอักเสบ
เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกและมักส่งผลกระทบต่อผิวเหงือก โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของเหงือกและฟัน ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกที่เหงือกขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน มีอาการกดเจ็บที่เหงือก และเหงือกบวมแดง ทั้งนี้ เหงือกอักเสบสามารถรักษาได้โดยการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขจัดแบคทีเรียและคราบพลัคบนผิวฟัน ซึ่งจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นในเวลาต่อมา แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
โรคปริทันต์
เกิดขึ้นเมื่อภาวะเหงือกอักเสบไม่ได้รับการรักษา ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดร่องลึกระหว่างเหงือกและรากฟัน รวมทั้งอาจเกิดการสะสมของแบคทีเรียที่บริเวณนั้น ๆ จนเนื้อเยื่อและกระดูกขากรรไกรที่ยึดเหงือกและฟันเอาไว้ด้วยกันได้รับความเสียหายและทำให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด
โดยผู้ป่วยโรคปริทันต์อาจมีอาการดังต่อไปนี้
- เหงือกบวมแดง
- สีของเหงือกเปลี่ยนไปจากเดิม
- ปวดเหงือกเมื่อกัดอาหาร
- ลมหายใจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
- รู้สึกมีรสชาติแปลก ๆ ภายในปาก
- เกิดฝีที่เหงือก ซึ่งอาจกลายเป็นหนองในภายหลัง
นอกจากนี้ แม้จะพบได้น้อย แต่ผู้ป่วยก็อาจมีอาการเหงือกอักเสบเนื้อตายเฉียบพลัน เช่น
- มีไข้
- เหงือกร่น
- มีเลือดออกที่เหงือกและรู้สึกปวดเหงือก
- มีแผลที่เหงือกและรู้สึกเจ็บบริเวณแผล
- รู้สึกเหมือนมีรสชาติโลหะอยู่ในปาก
- มีน้ำลายในปากมากเกินไป
- มีปัญหาในการพูดหรือกลืนอาหาร
ทั้งนี้ อาการที่เกิดจากโรคเหงือกอาจสังเกตได้ยาก เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการปวดหรือระคายเคืองบริเวณเหงือก ดังนั้น การเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้ทันตแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของเหงือกและทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทั้งยังช่วยป้องกันการสูญเสียฟันอีกด้วย
สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ
- อายุ โดยโรคเหงือกมักพบในวัยผู้สูงอายุ
- เพศ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเหงือกได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารแบบไม่ถูกสุขลักษณะอย่างการดื่มน้ำอัดลมหรือการรับประทานอาหารทอด รวมทั้งไม่แปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหารดังกล่าว เป็นต้น
- ความเครียด ซึ่งอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- การใส่เครื่องมือจัดฟัน ซึ่งอาจทำให้ขจัดคราบพลัคออกไปได้ายากขึ้น
- ปัญหาสุขภาพหรือโรคบางชนิด เช่น ภาวะขาดสารอาหาร กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือเอดส์ โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น เคยเข้ารับการทำเคมีบำบัด และเคยเป็นโรคเกี่ยวกับเหงือก เป็นต้น