ทันตกรรมสำหรับเด็ก
การรักษาฟันเด็ก เป็นสิ่งที่คุณพ่อแม่ทุกคนจะต้องทำให้ถูกต้อง เพราะคุณพ่อแม่ทุกคนคาดหวังอยากจะให้ลูกมีสุขภาพดีและแข็งแรง เพราะฉะนั้น หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือต้องหมั่นพาลูกไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ
การพาเด็กไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจฟันเป็นประจำ จะมีข้อดีคือ หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในช่องปาก หรือฟัน ก็จะได้ทำการรักษาฟันเด็กได้อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นกับเหงือกและฟันของเด็กก็คือ การดูแลรักษาความสะอาดเหงือกและฟันให้ถูกวิธี
การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรอ ว่าเมื่อไรฟันซี่แรกของเด็กจะขึ้นแล้วค่อยทำความสะอาด เพราะความจริงแล้วสามารถเริ่มทำความสะอาดได้ตั้งแต่แรก ซึ่งถ้าไม่มั่นใจก็สามารถเรียนรู้ หรือสอบถามได้จากการปรึกษาทันตแพทย์
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่ควรแนะนำเด็ก คือต้องสอนให้ลูกรู้จักการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงพวกขนมขดเคี้ยว น้ำหวาน เนื่องจากจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดฟันผุได้ง่าย
ข้อดีของการรักษาฟันเด็ก
เมื่อฟันน้ำนมเริ่มขึ้นในช่องปากแล้ว การดูแลรักษาฟันเด็กให้ดีตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนม จะช่วยทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาฟันตัวเองและไม่กลัวหมอฟัน ซึ่งการมีฟันน้ำนมไว้เคี้ยวอาหารจะช่วยไม่ให้มีปัญหาในการพูดหรือการบดเคี้ยว และการขึ้นมาของฟันแท้ในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้หากเด็กมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ ก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดฟันผุในฟันแท้ ทำให้เป็นฟันแท้ที่แข็งแรง และยังช่วยประหยัดค่าทำฟันได้อีกมาก ถ้าเด็กสามารถเรียนรู้ที่จะรักษาฟันเองเบื้องต้นได้
หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองยังไม่ทราบว่าควรจะเริ่มดูแลสุขภาพฟัน และรักษาฟันเด็กอย่างไร แนะนำให้พาเด็กไปพบกับทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก เพื่อรับคำแนะนำในการทำความสะอาดช่องปากทั่วๆไป เช่น หลังจากที่รับประทานอาหาร หรือนมเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดฟันอย่างไร
ฟันน้ำนมคืออะไร?
เด็กแรกเกิดทุกคนไม่มีฟันให้เห็นในช่องปากหลายคนจึงคิดว่าฟันเป็นอวัยวะที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เด็กเกิดแล้ว ที่แท้จริงแล้ว ฟันน้ำนมเริ่มมีการพัฒนาการเมื่ออายุครรภ์ได้ 6 สัปดาห์ โดยกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่ร่างกายทารกกำลังพัฒนากับอวัยวะอื่นๆ โดยการรวมตัวของเนื้อเยื่อเกิดเป็นปุ่มเล็กๆที่เรียกว่า “ หน่อฟัน” อยู่ภายในบริเวณที่จะเจริญเป็นกระดูกขากรรไกรบน 10 หน่อ และอยู่ในขากรรไกรบน 10 หน่อ
ฟันน้ำนมของเด็กเริ่มขึ้นเมื่อไร
เด็กอายุได้ประมาณ 6 เดือน ฟันน้ำนมซี่แรกจะเริ่มขึ้นโดยทั่วไปมักขึ้นพร้อมกัน 2 ซี่ คือ ฟันซี่หน้าล่างที่อยู่กึ่งกลางของขากรรไกรล่าง มีเด็กบางคนที่ฟันอาจจะขึ้นเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้บ้าง ฟันน้ำนมจะทยอยขึ้นมา
ทำไมฟันน้ำนมผุง่ายกว่าฟันแท้
ฟันน้ำนมผุง่ายกว่าฟันแท้ เพราะมีเคลือบฟันบางกว่า และมีแร่ธาตุแคลเซียมฟอตเฟตเป็นองค์ประกอบน้อยกว่าฟันแท้ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผุของฟันน้ำนมผุลุกลามสู่โพรงประสาทฟันได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เด็กเล็กมักกินอาหารจากการดูดขวด ทำให้ฟันแช่อยู่ในอาหารได้นาน ถ้าเป็นอาหารที่มีน้ำตาลก็จะทำให้ฟันผุง่ายขึ้นประกอบกับเด็กเล็กส่วนใหญ่แปรงฟันเอง และแปรงได้ไม่สะอาด จึงเป็นปัจจัยร่วมให้เด็กๆ มีฟันผุได้ง่ายนครบ 20 ซี่ เมื่อเด็กอายุได้ 2 -3 ปี โดยฟันน้ำนมแต่ละซี่จะมีอายุการขึ้นที่แตกต่างกัน
ฟันผุมีผลเสียต่อเด็กอย่างไร
ฟันผุเป็นรูลึกจะทำให้เด็กปวดฟัน ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ เด็กจึงไม่อยากกินอาหารมื้อหลัก รูฟันผุจะมีเศษอาหารตกค้างสะสมอยู่ เป็นแหล่งอาหารที่ดีของเชื้อโรค เชื้อโรคในรูฟันจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รูฟันผุจึงเปรียบเสมือนหลุมระเบิดของเชื้อโรค เชื้อโรคจำนวนมากสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของร่างกายเด็กได้ ทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่างๆ ที่พบได้บ่อย คือ การบวมตามบริเวณใบหน้า และใต้คางเด็กบางคนอาจมีอาการคออักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือบางครั้งเชื้อผ่านไปทางกระแสเลือดทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เช่น การติดเชื้อที่หัวใจ การที่เด็กไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ อาจทำให้ได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
ฟันผุของเด็กสังเกตได้อย่างไร
ฟันผุในระยะเริ่มแรก จะพบว่าเคลือบฟันมีสีขาวขุ่น ด้านๆ ไม่มันวาว เหมือนเคลือบฟันที่ปกติ เมื่อการผุลุกลามถึงชั้นเนื้อฟัน สีขาวขุ่นจะเปลี่ยนเป็นหลุมสีน้ำตาล ระยะนี้ถือว่าฟันผุแล้ว การผุในช่วงนี้เด็กจะไม่ปวด แต่หากปล่อยให้มีการลุกลามเป็นรูลึก เป็นโพรงดำๆ ถึงโพรงประสาทฟัน เด็กจะปวดฟัน โดยจะมีอาการปวดเป็นครั้งคราว เป็นๆ หายๆ ทำให้เด็กต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน
การดูแลช่องปากและฟันในแต่ละช่วงอายุ
เมื่อฟันยังไม่ขึ้น : ช่วงนี้เด็กจะทานแต่นม เด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าขาวไม่ต้องกังวลเพราะจะหายเองได้ในช่วงนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดทำความสะอาดลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้มวันละ2 ครั้ง ตอนเช้า-เย็น
ฟันเพิ่งขึ้นพ้นเหงือก หรือหลัง 6 เดือนที่เด็กทานอาหารเสริมแล้ว : ช่วงนี้การใช้แปรงสีฟันทำความสะอาดฟันจะยังไม่สะดวกเพราะแปรงสีฟันขนาดใหญ่เกินไป ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว แล้ว เช็ดทำความสะอาดลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้มวันละ2 ครั้ง ตอนเช้า-เย็นเด็กที่ฟันเพิ่งขึ้นอาจมีเลือดออกขณะแปรงฟันหรือเช็ดฟัน ไม่ต้องตกใจ
เมื่อฟันขึ้นเกินครึ่งซี่ : ในช่วงนี้ให้แปรงฟันให้ลูกได้เลย โดยเลือกแปรงสีฟันไนล่อนที่มีขนาดเหมาะสมกับช่องปากของเด็ก ขนนุ่มหน้าตัดตรง ปลายขนแปรงกลมมน มีด้ามจับถนัดมือ และที่สำคัญให้เลือกใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็ก โดยใช้ปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ดังนี้
อายุเด็ก 6 เดือน – 1 ปีครึ่ง ปริมาณยาสีฟันแตะแปรงพอชื้น
อายุเด็ก 1 ปีครึ่ง – 3 ปี ปริมาณยาสีฟันเท่าเมล็ดถั่วเขียว
อายุเด็ก 3 ปี – 6 ปี ปริมาณยาสีฟันเท่าเมล็ดข้าวโพด
อายุเด็ก 6 ปีขึ้นไป ปริมาณยาสีฟันครึ่งเซนติเมตร
ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุได้อย่างไร
ฟลูออไรด์ ช่วยป้องกันฟันผุได้ 3 ลักษณะ คือ
- การเสริมสร้างผลึกฟันให้แข็งและต้านทานการผุได้มากขึ้น ทั้งในระยะที่ก่อนฟันขึ้น ขณะที่กำลัง พัฒนาโครงสร้างและระยะที่ฟันขึ้นมาในช่องปากแล้ว
- ฟลูออไรด์ช่วยกระตุ้นให้เกิดการคืนกลับของแร่ธาตุ ยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวเคลือบฟัน
- ฟลูออไรด์ยังช่วยยับยั้งการย่อยสลายอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้ฟันผุ
ฟลูออไรด์ที่ทันตแพทย์นิยมใช้ในการป้องกันฟันผุ ได้แก่
- ฟลูออไรด์ เจล (fluoride gel) เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป สามารถป้องกันฟันผุในฟันแท้ได้ประมาณ 28% และในฟันน้ำนมประมาณ 20%
ขั้นตอนการเคลือบฟลูออไรด์ เจล : ทันตแพทย์จะแปรงฟันหรือขัดฟันเด็กให้สะอาด เลือกขนาดถาดฟลูออไรด์ (fluoride tray) ให้เหมาะสมกับจำนวนฟัน (ชุดฟัน) ของเด็ก ใส่ฟลูออไรด์เจลลงในถาดฟลูออไรด์ แล้วจึงนำถาดครอบฟันบนและฟันล่าง ให้เด็กกัดไว้เป็นเวลา 4 นาที ขณะเคลือบฟลูออไรด์ต้องมีที่ดูดน้ำลายตลอดเวลา เพื่อป้องกันการกลืนฟลูออไรด์เจลส่วนเกินออก
ข้อแนะนำหลังหลังเคลือบฟลูออไรด์ : ควรงดน้ำ งดอาหาร 30 นาที
- ฟลูออไรด์วานิช (fluoride varnish) เหมาะสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี และผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง โดยเฉพาะเมื่อมีจุดสีขาว (white spot lesion) บนผิวฟันซึ่งเป็นสัญญาณบอกการเริ่มต้นของรอยผุ เมื่อฟลูออไรด์วานิชสัมผัสบริเวณผิวฟันที่มีจุดสีขาวซ้ำๆหลายๆครั้ง ทำให้เกิดผลึกแคลเซียมฟลูออไรด์ที่ผิวเคลือบฟัน ทำให้ช่วยหยุด รอยผุระยะเริ่มต้นไม่ให้ลุกลามต่อไปได้ ฟลูออไรด์วานิชสามรถป้องกันฟันผุในฟันแท้ได้ 46% และในฟันน้ำนม 33%
ขั้นตอนการทาฟลูออไรด์วานิช ทันตแพทย์จะขัดฟันให้สะอาดและเช็ดฟันให้แห้ง แล้วใช้พู่กันทาฟลูออไรด์วานิชบางๆบนผิวฟัน โดยเน้นที่บริเวณเริ่มผุจุดสีขาว และด้านที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูงคือด้านประชิดในซอกฟัน และด้านบดเคี้ยว ควรหลีกเลี่ยงการทาโดนเหงือก เพื่อลดอาการระคายเคือง
ข้อแนะนำหลังการทาฟลูออไรด์วานิช : งดน้ำงดอาหาร 30 นาที เลี่ยงอาหารแข็ง 2 ชั่วโมง งดการแปรงฟัน 1 คืน และงดการแปรงฟันในวันที่ทาฟลูออไรด์วานิช เพื่อเพิ่มเวลาการยึดติดและการปล่อยฟลูออไรด์สู่ผิวเคลือบฟัน
การเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุ
วัสดุอุดหลุมร่องฟันคือ พลาสติกเคลือบผิวฟันสำหรับเคลือบบนผิวฟันด้านบดเคี้ยวของฟันที่อยู่ด้านใน ได้แก่ ฟันกราม และ ฟันกรามน้อย เพื่อปกป้องฟันจากฟันผุ
ทำไมจึงต้องอุดหลุมร่องฟัน พื้นผิวด้านบดเคี้ยวของฟันกรามและฟันกรามน้อยจะมีร่อง หรือที่เรียกว่า “หลุมร่องฟัน” อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ หลุมร่องฟันเหล่านี้อาจจะเป็นร่องลึก ยากต่อการทำความสะอาด และยังอาจแคบกว่าขนาดของขนแปรงแต่ละเส้นบนแปรงสีฟันก็ได้ ดังนั้น คราบแบคทีเรียจึงสะสมอยู่ในบริเวณดังกล่าว และแบคทีเรียจะปล่อยกรดออกมาทำลายเคลือบฟัน ทำให้เกิดฟันผุตามมา ถึงแม้ว่าฟลูออไรด์จะช่วยป้องกันฟันผุทั้งหมด แต่วัสดุอุดหลุมร่องฟันจะเพิ่มเกราะป้องกันบริเวณที่เป็นหลุมและร่องอีกชั้นหนึ่งโดยเข้าไปเคลือบเหนือบริเวณหลุมร่องฟัน
ต้องเคลือบหลุมร่องฟันเมื่อไหร่ ปกติแล้ว ทันตแพทย์จะเคลือบหลุมร่องของฟันกรามแท้ซี่แรกเมื่อฟันด้านบดเคี้ยวโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาทั้งซี่ โดยฟันซี่นี้จะงอกขึ้นมาตามหลังฟันน้ำนม และหากผิวด้านบดเคี้ยวของฟันได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันเอาไว้ ฟันก็จะได้รับการปกป้องไปด้วย ฟันกรามและฟันกรามน้อยจะค่อย ๆ งอกขึ้นมาจนกระทั่งคนเราอายุประมาณ 11-13 ปี
ขั้นตอนการเคลือบหลุมร่องฟัน
โดยทั่วไปแล้ว การทาวัสดุอุดหลุมร่องฟันไม่เจ็บเลยและไม่จำเป็นต้องกรอฟันหรือใช้ยาชาแต่อย่างใด
- อันดับแรก ทันตแพทย์จะขัดผิวฟันด้วยวัสดุพิวมิซเพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารออกจากหลุมและร่องฟันที่จะทำการเคลือบหลุมร่องฟัน
- ทันตแพทย์จะใช้แปรงทาวัสดุอุดหลุมร่องฟันลงไปบนผิวฟัน และฉายแสงเป็นเวลาประมาณ 30 วินาทีเพื่อให้วัสดุยึดแน่นกับผิวฟัน
- ในขั้นตอนสุดท้าย ทันตแพทย์จะตรวจดูวัสดุอุดหลุมร่องฟันและการสบฟันเป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อวัสดุอุดหลุมร่องฟันแข็งตัว วัสดุจะกลายเป็นพลาสติกเคลือบผิวฟัน โดยสามารถใช้ฟันซี่นั้นเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ